|
ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักการแพทย์
514 ถนนหลวง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร 10100
โทร 0 2622 5047 โทรสาร 0 2224 2969 |
|
|
สัมมนาวิชาการประจำปี 2555 สนพ. ลุล่วง บุคลากรปลื้มเรียนรู้การบริหารจัดการภัยพิบัติ
|
|
ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิด “การสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10” โดยมี นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์คอยให้การต้อนรับและนำชมงานสัมมนา ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา |
หลังจากที่เมื่อเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครต้องกลายเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยซึ่งได้สร้างผลกระทบอันหนักหน่วงในด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ ในฐานะที่สำนักการแพทย์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขของชาว กทม. จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ และเตรียมพร้อมในด้านมาตรการขั้นตอนการปฏิบัติ รวมไปถึงเตรียมแผนรองรับสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกขณะ เพื่อให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ |
ด้วยเหตุนี้สำนักการแพทย์จึงได้เลือก Theme ของการสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งนี้ เป็นเรื่อง “ภัยพิบัติ...จากวิกฤตสู่โอกาส” เพื่อให้ความรู้ด้านการเผชิญกับภัยพิบัติต่าง ๆ แก่ผู้เข้าสัมมนาผ่านกิจกรรมทางวิชาการมากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยาย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การประกวดผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ และผลงานการพัฒนาคุณภาพบริการ ตลอดจนการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ในรูปแบบการนำเสนอปากเปล่าทั้งในภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งการนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมและพัฒนาวิชาการให้แก่บุคลากรในสังกัด อีกทั้งยังมีบุคลากรภายนอกสังกัด กทม. ได้เข้าร่วมการประกวดด้วย โดยสัมมนานี้จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2555 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. ผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วยข้าราชการตั้งแต่ระดับข้าราชการระดับปฏิบัติงาน – ระดับบริหารสังกัดสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย รวมทั้งบุคคลภายนอกในข้างต้น ให้ความสนใจและตอบรับเข้าร่วมการสัมมนาเป็นจำนวนมาก |
พิธีเปิดการสัมมนาเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 08.30 น. ของวันที่ 30 สิงหาคม 2555 ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเดินทางมาเป็นประธานในพิธี ณ ห้องราชา โดยมีท่านรองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้กล่าวรายงานและมอบของที่ระลึกแด่ท่านประธาน หลังจากพิธีเปิดเสร็จสิ้นท่านรองปลัด ฯ และคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ก็นำท่านผู้ว่า ฯ เยี่ยมชมบรรยากาศรอบงาน ซึ่งประกอบไปด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ รวมไปถึงบริษัทยาและเวชภัณฑ์ที่มาเปิดบู้ธแสดงผลิตภัณฑ์กันอย่างคับคั่ง จากนั้นไม่นาน พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ท่านผู้รองว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เดินทางมาสมทบด้วยเช่นกัน |
|
ด้านการสัมมนาในห้องราชาของวันที่ 30 เป็นการสัมมนาในหัวข้อ “มาตรฐาน JCI กับการจัดการภัยพิบัติ โดย นพ.สมพร คำผง ที่ปรึกษาอาวุโส Heath care expert ผู้เชี่ยวชาญจาก JCI & สรพ. ต่อด้วยช่วงเวลา Luncheon Symposium ในหัวข้อ “ภัยพิบัติกับองค์การเภสัชกรรม” รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ปิดท้ายการสัมมนาในวันนี้ด้วยหัวข้อ “การจัดการภัยพิบัติ” โดย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงประสบการณ์ของวิทยากรให้การสัมมนาในวันแรกผ่านพ้นไปด้วยสาระน่ารู้ หลักการที่จำเป็นในเรื่องภัยพิบัติ นอกจากนี้ในช่วงบ่ายยังมีการประกวดโปสเตอร์ (Poster Presentation) ในช่วงของการนำเสนอแนวคิดในการออกแบบ และรายละเอียดของนวัตกรรม เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาตัดสินหาผู้ได้รับรางวัลซึ่งจะประกาศผลในวันรุ่งขึ้น
|
ในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 การสัมมนายังคงดำเนินไปด้วยความเข้มข้นทั้งในเนื้อหาสาระและความรู้ที่น่าสนใจอีกเช่นเคย โดยหัวข้อแรกของช่วงเช้าเป็นการบรรยายในหัวข้อ “Disaster Risk in Bangkok…อุทกภัย โดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ดุษฎีบันฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต ก่อนจะเป็นช่วงของการประกวดการนำเสนอผลงาน (Oral Presentation) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 ห้องย่อย ตามแต่หัวข้อที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย |
|
- ห้องพัชราวดี เป็นผลงานด้านพัฒนาคุณภาพ
- ห้องพัชราวดี 2 เป็นผลงานด้านวิจัยแพทย์ / เภสัชกร
- ห้องพัชราวดี 3 เป็นผลงานด้านวิจัยทันตแพทย์ / นักกายภาพบำบัด / พยาบาลวิชาชีพ
- ห้องพัชราภา เป็นผลงานด้านUnit Cost
- ห้องราชา เป็นการนำเสนอในภาคห้องภาษาอังกฤษ
|
หลังจากนั้นในช่วงรับประทานอาหารจะเป็น Luncheon Symposium การบริหารจัดการห้องไตเทียม และการบริหารยา ETO ในภาวะน้ำท่วม” โดย พญ. ชัญชนา บุญญไกร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตากสิน ต่อด้วยหัวข้อ “แผ่นดินไหว ภัยใกล้ตัว...ที่น่ากลัว” โดย รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ รองคณบดีฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปิดท้ายด้วยหัวข้อ “Urban Medicine” โดย นพ. วิสุทธิ์ อนันต์สกุลวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ – นรีเวชกรรม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ |
จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงของการประกาศผลการประกวด ซึ่งก็ได้รับเกียรติจาก นพ.สราวุฒิ สนธิแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เป็นผู้มอบรางวัล ปรากฏว่า รางวัลที่ 1 Poster Presentation ผู้ได้รับรางวัลคือ ธีรพันธุ์ สุวรรณยอด นายช่างเทคนิคชำนาญงาน สังกัด โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร กับผลงาน อุปกรณ์ตรวจวัดกระแสไฟฟ้ารั่วในน้ำ ด้านผลการประกวด Oral Presentation ทั้ง 5 ห้องผลการประกวดเป็นดังนี้ |
- ห้องพัชราวดี (ห้องพัฒนาคุณภาพ) รางวัลที่ 1 เรื่อง “กระบวนการพัฒนาระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในภาวะวิกฤต” นำเสนอโดย
ผศ.นพ. ธีระ กลลดาเรืองไกร จากโรงพยาบาลศิริราช
- ห้องพัชราวดี 2 (ห้องวิจัยแพทย์ / เภสัชกร) รางวัลที่ 1 เรื่อง “การเปรียบเทียบความเพียงพอของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ได้จากการใช้ Manual vacuum aspiration กับการใช้อุปกรณ์ขูดมดลูกชนิดโลหะในผู้ป่วยที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก” นำเสนอโดย นพ. พิสิฐ บูรณวโรดมกุล จากโรงพยาบาลกลาง
- ห้องพัชราวดี 3 (ห้องวิจัยทันตแพทย์ / นักกายภาพบำบัด / พยาบาลวิชาชีพ) รางวัลที่ 1 เรื่อง “ผลของเสียงจังหวะการเต้นของหัวใจต่อระยะเวลาการหลับในทารกเกิดก่อนกำหนด” นำเสนอโดย คุณสมจิต วรรณขาว จากโรงพยาบาลตากสิน
- ห้องพัชราภา (ห้อง Unit Cost) รางวัลที่ 1 เรื่อง “การวิเคราะห์ต้นทุนการให้บริการผู้ป่วยโรงพยาบาลกลางปีงบประมาณ 2553” นำเสนอโดย ทันตแพทย์สมเกียรติ อุดมไพบูลย์สุข จากโรงพยาบาลกลาง
- ห้องราชา (ห้องภาษาอังกฤษ) รางวัลที่ 1 เรื่อง “Correlation between Fluorescein Angiography and Spectral Domain Optical Coherence Tomography in the Diagnosis of Cystoid Macular Edema” นำเสนอโดย นพ. ธีระพัฏ จิตต์พูลกุศล จากโรงพยาบาลกลาง
|
ภายหลังมอบรางวัล ท่านผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ได้ทำพิธีปิดการสัมมนาซึ่งได้กล่าวขอบคุณคณะทำงานทุกชุดที่ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ขึ้นมา รวมถึงบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่ได้ลงทุนลงแรงสร้างสรรค์ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเช่นนี้ออกมา และหวังว่าบุคลากรทุกท่านจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้กับงานที่รับผิดชอบเพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต |
|